หากเราพูดถึงกิจกรรมทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการล่องเรือ พายเรือคายัค ล่องแก่ง หรือกีฬาทางน้ำหลายๆ ชนิด อุปกรณ์เซฟตี้ที่เราควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ คือเสื้อชูชีพ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการพยุงตัวเมื่อเราตกน้ำหรือเกิดอันตรายระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ วันนี้ทาง GTM MARINE จะมาแนะนำ วิธีการเลือกเสื้อชูชีพ ให้เหมาะสมสำหรับกิจกรรมแต่ละประเภทว่ามีอะไรที่เราต้องคำนึงถึงบ้าง และเสื้อชูชีพแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เหมาะกับกิจกรรมชนิดไหน มีมาตรฐานอะไรที่เราควรรู้ก่อนเลือกซื้อ ตามมาดูกันด้านล่างเลย

วิธีการเลือกเสื้อชูชีพเบื้องต้น จำเป็นต้องดูอะไรบ้าง?

1.น้ำหนักและขนาดตัวผู้สวมใส่เสื้อชูชีพ

จุดสำคัญข้อแรกที่ควรคำนึงถึงคือ น้ำหนักและขนาดตัวของผู้สวมใส่ เพื่อให้ได้ขนาดของเสื้อที่เหมาะสมมากขึ้น เพิ่มความกระชับเมื่อสวมใส่ ทำให้เสื้อไม่หลวมและหลุดออกจากตัวเราระหว่างอยู่ในน้ำ หากเสื้อหลวมเกินไปจะทำให้เสื้อยกตัวสูงเกินความจำเป็นแม้ว่าจะรัดสายจนสุดแล้วก็ตามและยังทำให้เราขยับตัวหรือว่ายน้ำลำบาก หรือหากแน่นเกินไปก็จะทำให้รู้สึกอึดอัด นอกจากนั้นแล้วเรายังควรดูรอบอกและเอวก่อนตัดสินใจสั่งซื้อเพื่อให้ได้เสื้อตามขนาดที่ต้องการ

2.เลือกแรงลอยตัวตามกิจกรรมของผู้สวมใส่

ค่าแรงลอยตัว (Buoyancy) ถือเป็นหนึ่งค่าที่สำคัญสำหรับการเลือกเสื้อชูชีพให้เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของเราเองจะมีแรงลอยตัวอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่สำหรับเสื้อชูชีพจะมีแรงลอยตัว (Buoyancy performance) ตั้งแต่ 50-275 นิวตัน โดยจะขึ้นอยู่กับการใช้งาน เราสามารถดูได้จากสัญลักษณ์ Pictogram ที่แสดงอยู่บนฉลากของตัวเสื้อ

  • แรงลอยตัว 50 นิวตัน สำหรับใช้ในกิจกรรมกีฬาทางน้ำแบบทั่วไปหรือในพื้นที่ปิด หรือใช้ในบริเวณที่สามารถได้รับการช่วยเหลือได้ทันทีเมื่อตกน้ำ เสื้อชนิดนี้เป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยลอยน้ำหรือเสื้อพยุงตัว (ไม่ถือเป็นเสื้อชูชีพ)
  • แรงลอยตัว 100 นิวตัน สำหรับใช้ทำกิจกรรมทางน้ำ โดยจะเป็นแรงลอยตัวที่นิยมใช้มากที่สุด ใช้ได้หลากหลายกิจกรรม เหมาะสำหรับทะเลเปิดภายในประเทศ มีคลื่นสงบ และตัวเสื้อได้รับการออกแบบให้สามารถยกหน้าของผู้สวมให้พ้นน้ำได้
  • แรงลอยตัว 150 นิวตัน สำหรับใช้งานในทะเลเปิดนอกชายฝั่ง หรือมีการเดินเรือผ่านพื้นที่ที่มีสภาพอากาศและคลื่นลมแปรปรวน
  • แรงลอยตัว 275 นิวตัน สำหรับใช้งานในทะเลเปิดนอกชายฝั่ง หรือมีการเดินเรือผ่านพื้นที่ที่มีสภาพอากาศและคลื่นลมรุนแรง

ปกติแล้วเสื้อชูชีพมาตรฐานที่นิยมใช้ทั่วไปจะมีแรงลอยตัวที่ 100 นิวตันและเสื้อพยุงตัวจะมีแรงลอยตัวอยู่ที่ประมาณ 50 นิวตัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานแบบทั่วไปแล้ว นอกจากนั้นขนาดของโฟมภายในเสื้อยังไม่ใหญ่เกินไป ทำให้สามารถใส่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วและไม่อึดอัดเกินไป

3.เลือกเสื้อชูชีพที่ได้มาตรฐาน

เสื้อชูชีพมาตรฐานกรมเจ้าท่า

มาตรฐานของเสื้อชูชีพตามกำหนดของกรมเจ้าท่าต้องมีลักษณะ 7 ข้อดังนี้

    1. แรงลอยตัว เสื้อจะต้องสามารถยกตัวให้ปากของผู้สวมใส่พ้นจากระดับน้ำได้ โดยแรงลอยตัวมาตรฐานจะอยู่ที่ 100 นิวตันหรือมากกว่า โดยจะยกตัวผู้สวมที่มีน้ำหนักมากกว่า 70 กิโลกรัมได้ สำหรับเสื้อชูชีพเด็กต้องมีแรงลอยตัวขั้นต่ำที่ 30-50 นิวตัน โดยจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวเด็ก
    2. ปกหรือแผงคอ ตัวเสื้อจะต้องมีแผงคอที่สามารถช่วยพลิกตัวผู้สวมใส่ไม่ให้หน้าจมน้ำแม้ว่าจะหมดสติ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุรุนแรงแล้วหมดสติ ตัวเสื้อต้องช่วยพลิกหน้าขึ้นเหนือน้ำได้
    3. สีของเสื้อชูชีพ โดยทั่วไปแล้วสีเสื้อต้องเป็นสีที่มองเห็นได้ง่าย ตัดกับสีของน้ำ ช่วยให้ผู้ช่วยเหลือมองเห็นได้ชัดเจน ตามมาตรฐานของกรมเจ้าท่า เสื้อชูชีพจะต้องมีส้มสว่างเพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็น
    4. แถบสะท้อนแสง อีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผู้ช่วยเหลือมองเห็นหรือระบุพิกัดเราได้จากการสะท้อนแสงในเวลากลางคืน ซึ่งตัวแถบสะท้อนแสงจะต้องได้มาตรฐานตามกำหนด
    5. นกหวีด ช่วยในการระบุตำแหน่งของผู้สวมหากยังมีสติ โดยต้องยึดติดกับเสื้อด้วยเชือกอย่างแน่นหนา สามารถเป่าได้แม้เปียกน้ำ มีเสียงดังชัดเจนตามมาตรฐานของ ISO
    6. สัญลักษณ์แรงลอยตัว (Pictogram) ต้องมีสัญลักษณ์ระบุแรงลอยตัวของเสื้อชูชีพที่สวมใส่อย่างชัดเจน
    7. ฉลากรับรองมาตรฐาน โดยทั่วไปนั้นเสื้อชูชีพที่ได้มาตรฐานจะต้องมีฉลากรับรองเย็บติดกับตัวเสื้อโดยระบบ ชื่อรุ่น เลขรุ่น วันที่ผลิต ผู้ผลิต และเลขที่อนุมัติ หากเป็นเสื้อชูชีพจากต่างประเทศจะต้องมีฉลากรับรองตามมาตรฐาน ISO และต้องมีใบเซอร์ติฟิเคทรองรับ

7 ข้อนี้เป็นมาตรฐานสำคัญที่เสื้อชูชีพทุกตัวต้องมีตามกำหนดของกรมเจ้าท่า หากเราต้องเลือกซื้อเสื้อชูชีพหรือจำเป็นต้องใส่ในระหว่างเดินทางทางน้ำก็อย่าลืมตรวจสอบมาตรฐานเหล่านี้ทุกครั้ง ซึ่งเสื้อชูชีพที่ทางเราจำหน่ายเป็น เสื้อชูชีพมาตรฐานกรมเจ้าท่า ใช้งานได้อย่างหายห่วง นอกจากนั้นแล้วเสื้อชูชีพในบางยี่ห้อจะมีอุปกรณ์เสริมอย่างช่วงห่วง D-ring สำหรับการกู้ภัย สามารถเกี่ยวกับตัวล็อกหรือเชือกเพื่อให้ง่ายต่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือผูกติดกับบุคคลอื่นระหว่างทำกิจกรรม

4.เลือกเสื้อชูชีพตามลักษณะการใช้งาน

กิจกรรมทางน้ำเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยง จำเป็นต้องมีเสื้อชูชีพที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในกิจกรรมหรือกีฬาชนิดต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน และตัวผู้สวมใส่มีความปลอดภัยในเวลาเดียวกัน ลองมาดูตัวอย่างกิจกรรมด้านล่างเพื่อเลือกเสื้อชูชีพที่เหมาะสำหรับคุณ

เสื้อชูชีพสำหรับการนั่งเรือ ล่องเรือ การเดินทางทางน้ำ เสื้อชูชีพสำหรับกิจกรรมเหล่านี้จะต้องมอบความปลอดภัยให้กับผู้สวมใส่ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ หรือมีการตกน้ำอาจเป็นอันตรายได้ง่าย นอกจากนั้นแล้วพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลเปิดนอกชายฝั่ง เราอาจเจอกับสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ มีคลื่นลมแรง โดยเสื้อชูชีพที่เหมาะสำหรับกิจกรรมประเภทนี้คือเสื้อชูชีพแบบมาตรฐานที่มีแรงลอยตัว 100 นิวตันขึ้นไป เพราะช่วยให้เราลอยตัวได้ง่ายและสู้กลับคลื่นในทะเลได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นยังช่วยพลิกตัวให้ผู้สวมใส่ได้แม้หมดสติในน้ำ

กิจกรรมทางน้ำทั่วไป เล่นน้ำ ดำน้ำตื้น(ผิวน้ำ) การเลือกเสื้อชูชีพสำหรับกิจกรรมเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะใช้งานบริเวณใกล้ชายฝั่ง ทำให้ง่ายต่อการมองเห็นของผู้คนบริเวณนั้น หรืออยู่ใกล้ผู้ดูแล ได้รับการช่วยเหลือเร็ว เราสามารถเลือกชูชีพแบบเสื้อพยุงตัวที่มีแรงลอยตัวเหมาะสม สามารถช่วยให้เราใส่ทำกิจกรรมประเภทนี้ได้ง่าย โดยอาศัยการตีขาช่วยในการบังคับทิศทาง ผู้สวมใส่ต้องมีสติตลอดเวลาเพราะตัวเสื้อจะไม่สามารถช่วยพลิกตัวเราได้หากหมดสติ

กีฬาทางน้ำ เจ็ทสกี พายคายัค ซับบอร์ด เวคบอร์ด เรือใบ กิจกรรมประเภทกีฬาจะต้องใช้ความคล่องตัวสูง เสื้อชูชีพที่เลือกจะต้องมีวงแขนกว้างเพื่อความคล่องตัว และตัวเสื้อต้องมีน้ำหนักเบา แนบชิดกับผู้สวมใส่ ไม่หนามากจนเกินไป โดยส่วนใหญ่แล้วเสื้อลักษณะนี้จะเรียกว่า “เสื้อพยุงตัว” มีแรงลอยตัว 50 นิวตัน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง และใช้ในพื้นที่ที่สามารถได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วจากผู้ดูแลหรือคนโดยรอบ

กิจกรรมการล่องแก่ง ล่องแพ น้ำตก กิจกรรมเหล่านี้แม้ว่าจะอยู่ในพื้นใกล้ฝั่ง และให้การช่วยเหลือได้ง่าย แต่ในบางพื้นที่อาจมีกระแสน้ำแรงมีคลื่นกระแทก และไหลเชี่ยว เสื้อชูชีพที่เหมาะสำหรับกิจกรรมเหล่านี้จะต้องเป็นเสื้อที่มีแรงลอยตัวสูงในระดับหนึ่งเช่นเสื้อชูชีพ 100-150 นิวตัน ตามพื้นที่การใช้งาน หากกระแสน้ำเชี่ยวมาก มีคลื่นกระแทกแรง เสื้อที่มีแรงลอยตัวสูงจะสามารถยกตัวเราได้ดีกว่าและยังช่วยในการพยุงตัวผู้สวมใส่ไม่ให้เหนื่อยจนเกินไป

ประเภทของเสื้อชูชีพ มีกี่แบบ? เหมาะกับกิจกรรมอะไร?

เสื้อชูชีพในท้องตลาดมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ วิธีการเลือกเสื้อชูชีพก็จะขึ้นอยู่กับการใช้งานที่แตกต่างกันไป โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สวมใส่ที่จะได้รับจากเสื้อชูชีพชนิดต่างๆ เพราะฉะนั้นก่อนเลือกซื้อเสื้อชูชีพ เราควรรู้จักกับชนิดและการประเภทการใช้งานของมันก่อนทำการจะตัดสินใจซื้อ

วิธีการเลือกเสื้อชูชีพ

เสื้อชูชีพแบบมาตรฐาน (Lifejacket) 

เสื้อชูชีพที่ออกแบบมาสำหรับการช่วยชีวิตเป็นหลัก เพราะการออกแบบที่มีปกหรือแผงคอจะช่วยให้สามารถพลิกตัวผู้สวมใส่ให้หน้าและปากลอยขึ้นเหนือน้ำได้แม้ว่าจะหมดสติ โดยส่วนใหญ่แล้วเสื้อชนิดนี้จะใช้ในเรือพาณิชย์ เรือเดินทะเล หรือการล่องเรือระยะไกล เพราะจะต้องผ่านพื้นที่ที่อาจมีคลื่นลมแรง เขตน้ำลึก พื้นที่ห่างไกลชายฝั่ง หากเกิดอุบัติเหตุตกน้ำหมดสติ หากใส่เสื้อชูชีพแบบมีแผงคอและได้มาตรฐานก็สามารถช่วยให้เรามีโอกาสรอดได้มากยิ่งขึ้น

เสื้อพยุงตัว (Buoyancy Aid)

เสื้อพยุงตัวเป็นอีกชนิดที่หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่ามันเป็นเสื้อชูชีพ ซึ่งจริงๆ แล้วเสื้อพยุงตัวไม่ถือเป็นเสื้อชูชีพ แต่จะช่วยให้เราพยุงตัวอยู่ในน้ำได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเสื้อชนิดนี้จะไม่สามารถพลิกตัวให้กับผู้สวมใส่ได้หากหมดสติ แต่จะแลกมากับความคล่องตัวและการใช้งานที่หลากหลายกว่า เสื้อชูชีพแบบพยุงตัวสามารถใช้ทำกิจกรรมทางน้ำได้หลายประเภทไม่ว่าจะเป็น พายเรือคายัค ซับบอร์ด เล่นเรือใบ เจ็ทสกี ดำน้ำตื้น และกิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถได้รับความช่วยเหลือได้รวดเร็ว ผู้ใส่ควรมีทักษะว่ายน้ำเพื่อช่วยพยุงตัวหรือตีขาให้สมดุลเมื่ออยู่ในน้ำ

เสื้อชูชีพแบบพองลม (Inflatable Lifejackets)

เสื้อชูชีพแบบพองลมเหมาะสำหรับกิจกรรมที่ต้องการความคล่องตัวสูง สวมใส่สบายกว่าทุกแบบ เพราะเสื้อชนิดนี้จะคลุมเพียงแค่ช่วงคอเท่านั้นในขณะไม่ได้พองลม แต่การใช้งานเสื้อชนิดนี้ต้องคอยตรวจสอบสภาพอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่ตามรอบแม้ว่าจะไม่ได้ใช้งานก็ตาม นอกจากนั้นราคาของเสื้อชูชีพแบบพองลมยังมีราคาที่สูงกว่าชนิดอื่นมาก

ก่อนเลือกซื้อเสื้อชูชีพชนิดนี้จำเป็นต้องตรวจสอบว่าสินค้ามีมาตรฐานหรือไม่? ร้านค้ามีอะไหล่จำหน่ายเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนไหม? บริการหลังการขายเป็นอย่างไร? วันผลิตและวันหมดอายุเป็นวันที่เท่าไหร่? รายละเอียดเหล่านี้สำคัญมากสำหรับเสื้อชูชีพแบบพองลม เพราะหากเราต้องการใช้ในระยะยาวก็ต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่เมื่อครบกำหนดจากสถานีบริการตรวจทดสอบอุปกรณ์ประจำเรือ และต้องหาใช้อะไหล่ที่ได้มาตรฐานจากตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น

ในตอนนี้เสื้อชูชีพแบบพองลมก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้ในกิจกรรมตกปลา ขับเรือ เล่นเรือใบ หรือกิจกรรมทางน้ำอีกหลายชนิด โดยจะมีทั้งแบบพองลมอัตโนมัติเมื่อโดนน้ำ และแบบแมนนวล(กระตุกเชือกเองเมื่อตกน้ำ) ถือเป็นเสื้อชูชีพที่ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลายรูปแบบ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับเสื้อชูชีพพองลมสามารถเข้าไปอ่านกันได้ที่ Inflatable Lifejacket

เสื้อชูชีพพองลม

บทสรุป วิธีการเลือกเสื้อชูชีพ เลือกยังไงให้ปลอดภัย ถูกต้องตามการใช้งาน

ตามแนวทางและวิธีการเลือกเสื้อชูชีพด้านบน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คุณเลือกเสื้อชูชีพได้ถูกประเภทมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรกคือเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะมันเป็นอุปกรณ์เซฟตี้ที่จะช่วยชีวิตเราเมื่อตกน้ำ ตลาดเสื้อชูชีพในปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย แต่สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของคุณภาพ ทั้งตัวเสื้อและฟังก์ชันการใช้งานจะต้องต้องศึกษาและตรวจสอบกันให้ดีว่ามีครบและถูกต้องหรือไม่ ความทนทานในการใช้งานเป็นอย่างไร มาตรฐานตรงตามข้อกำหนดไหม และถ้าหากต้องการตรวจสอบให้ละเอียดกว่านั้นควรดูเรื่องของวัสดุผลิตเพื่อตรวจสอบมาตรฐานเพิ่มเติม

ทาง GTM MARINE ให้ความสำคัญกับการเลือกเสื้อชูชีพให้เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งต้องตรวจสอบทั้งน้ำหนักและขนาดตัวผู้สวมใส่ รวมถึงความเหมาะสมของกิจกรรม นอกจากนั้นทางเรายังมีจำหน่ายอุปกรณ์เสริมของเสื้อชูชีพไม่ว่าจะเป็น ไฟติดเสื้อชูชีพ ซึ่งจะช่วยส่องสว่างเพื่อระบุตำแหน่งในเวลากลางคืน ทำให้ง่ายต่อการค้นหาและได้รับการช่วยเหลือไวยิ่งขึ้น, สายรัดใต้หว่างขา(อุปกรณ์เสริม) ซึ่งปกติแล้วเสื้อชูชีพที่มีมาตรฐานจะมีมาให้แล้วอย่างน้อยหนึ่งเส้น, Safety Life link line หรือสายเซฟตี้ ใช้ยึดเหนี่ยวกับราวหรือเสาป้องกันการตกน้ำในระหว่างปฏิบัติงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับใครที่กำลังมองหาเสื้อชูชีพ อุปกรณ์เซฟตี้สำหรับทำกิจกรรมทางน้ำไม่ว่าจะเป็นกีฬาหรือการเล่นเรือ สามารถเข้าชมสินค้าตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่ Lalizas thailand official และ GTM Marine Phuket เชื่อถือได้ มีมาตรฐานทุกชิ้น

Similar Posts