สมอเรือ (Anchor) หนึ่งในอุปกรณ์สำหรับการเดินเรือที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เราควรเลือกสมอที่เหมาะสำหรับเรือและสภาพแวดล้อมในการใช้งาน เพราะหากเลือกไม่ถูกประเภทอาจทำให้เรือนั้นขยับไปตามกระแสน้ำหรือกระแสลมได้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง เรื่องเหล่านี้มักเกิดขึ้นบ่อยในการเดินเรือเพราะการเลือกใช้สมอไม่ถูกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำหนักสมอกับขนาดเรือหรือจะเป็นพื้นที่ลงสมอซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพื้นด้านใต้ที่มีทั้งทราย โคลน ดิน และอีกหลายรูปแบบที่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น ซึ่งทาง GTM MARINE ให้ความสำคัญกับการเลือกสมอที่ถูกต้องเพื่อการใช้งานที่เต็มประสิทธิภาพ โดยในบทความนี้เราจะพามารู้จักกับ 5 ประเภทของสมอเรือ พร้อมวิธีการเลือกสมอเรือให้เข้ากับการใช้งาน ไปจนถึงอุปกรณ์จำเป็นที่ต้องใช้ เช่น โซ่ และรางโซ่เป็นต้น

สมอเรือมีกี่ประเภท เหมาะกับการใช้งานแบบไหนบ้าง แล้วต้องเลือกยังไง?

แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมใต้น้ำนั้นมีความหลากหลาย ซึ่งหากถามว่าสมอเรือแบบไหนถึงจะดีที่สุดและตอบโจทย์ทุกการใช้งาน การเลือกแบบนี้คงจะเป็นไปได้ยากแต่หากเรามีการวางแผนการใช้งาน รวมถึงรู้สภาพพื้นใต้ทะเลที่เราจะลงสมอว่าเป็นแบบไหนก็จะทำให้เรามีตัวเลือกเหมาะสมได้ง่ายขึ้น บางครั้งอาจต้องมีสมอสำรองสำหรับการใช้งานในพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยต้องคำนึงถึงขนาดเรือ ทิศทางลม และสภาวะของทะเลด้วย มาดูกันว่าสมอแต่ละชนิดมีลักษณะยังไงและเหมาะกับสภาพแวดล้อมแบบไหนบ้าง

1. สมอแบบแมงดา (Fluke/Danforth Anchor)

สมอแบบแมงดา ออกแบบมาเพื่อยึดเกาะในพื้นทะเลที่เป็นทรายนุ่มๆ ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากโดยเฉพาะในหมู่เรือขนาดเล็ก เพราะสามารถจัดเก็บได้สะดวก อีกทั้งยังเหมาะที่จะทอดสมอบนพื้นโคลน และทรายมากๆ โดยสมอนี้จะมีสองแฉกที่ยาวและคม ทำให้ขุดลงไปในพื้นทะเลเพื่อยึดได้อย่างปลอดภัย รวมถึงมีอัตราส่วนน้ำหนักต่อแรงยึดที่ดีมากๆ ทำให้เป็นสมอที่ใช้น้ำหนักน้อยกว่าสมอประเภทอื่นๆ แต่จะไม่เหมาะกับพื้นหิน หรือบริเวณที่มีพืชน้ำเยอะ

สมอเรือทรงแมงดา

2. สมอแบบกรงเล็บ (Claw Anchor)

สมอแบบกรงเล็บ มีลักษณะคล้ายสมอแบบไถแต่มีรูปทรงต่างกัน ซึ่งสมอกรงเล็บจะหน้าตาคล้ายก้ามปูทำให้สามารถยึดเกาะได้ดีในทุกสภาพพื้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นทราย, โคลน, หิน, หรือปะการัง อีกทั้งยังใช้งานง่ายทั้งตอนทอด-ถอนสมอ และจัดเก็บง่ายอีกด้วย แต่อาจจะใช้งานลำบากหากเป็นพื้นประเภทดินเหนียว หรือมีพืชน้ำจำนวนมาก

สมอเรือทรงหัวร่ม

3. สมอแบบหัวร่ม (Grapnel Anchor)

สมอแบบหัวร่ม มีขนาดเล็ก และใช้งานได้ง่าย โดยสามารถกางออกเพื่อใช้งานหรือพับเก็บได้ง่าย มีห่วงเสริมสำหรับผูกเชือกสมอ โดยส่วนใหญ่สมอประเภทนี้จะออกแบบมาให้มี 4 แฉก ซึ่งช่วยให้ยึดเกาะกับพื้นได้ดีโดยเฉพาะกับพื้นหิน สมอชนิดนี้เหมาะสำหรับเรือขนาดเล็ก ได้แก่ เรือคายัก, แคนู, เรือยาง, เจ็ตสกี, และเรือเล็กอื่นๆ

สมอเรือทรงหัวร่ม

4. สมอแบบไถ (Plow Anchor)

สมอแบบไถ เป็นสมอที่พบมากที่สุด และเหมาะสำหรับสภาพพื้นทะเลส่วนใหญ่ โดยทำงานได้ดีที่สุดในโคลน ทราย และบริเวณที่มีพืชน้ำ ซึ่งสมอนี้จะมีปลายแหลมที่สามารถขุดลงไปในพื้นทะเลได้ ช่วยให้ยึดเกาะได้อย่างมันคงและรวดเร็ว นอกจากนั้นแล้วสมอประเภทนี้ยังสามารถตั้งตัวใหม่ได้เร็วเมื่อกระแสน้ำและลมเปลี่ยนทิศระหว่างจอดเรือ เหมาะที่จะเป็นสมอหลักสำหรับเรือยนต์ และเรือใบที่น้ำหนักเยอะ ควรใช้กับเรือที่มีกว้านสมอและรางโซ่มากกว่าตัวล็อคแบบทั่วไป

5. สมอแบบเห็ด (Mushroom Anchor)

สมอแบบเห็ด ออกแบบมาสำหรับใช้ในพื้นทะเลโคลน และตะกอน ซึ่งสมอชนิดนี้มีรูปร่างกลมคล้ายเห็ด ช่วยให้ฝังตัวลงไปในพื้นทะเลได้ดี แต่จะมีแรงยึดไม่เยอะมากนัก และมักจะถูกใช้สำหรับทอดสมอแบบถาวรโดยเฉพาะกับเรือขนาดเล็ก เช่น เจ็ทสกี และด้วยขนาดที่เล็กทำให้ถอนสมอได้ง่าย จัดเก็บสะดวก โดยส่วนใหญ่มักจะเคลือบด้วย PVC ช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายยิ่งขึ้น

ตารางเปรียบเทียบการใช้งานสมอเรือแต่ละประเภท

ตารางประเภทสมอ

จากข้อมูลด้านบนเราสามารถเลือกสมอได้จากสภาพแวดล้อมการใช้งาน โดยคำนึงถึงขนาดของเรือเพื่อให้ได้สมอที่เหมาะสมมากที่สุด แต่หากจำเป็นที่จะต้องใช้เรือในหลายพื้นที่ อาจต้องมีการเตรียมสมอสำรองเพื่อใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ในบางเหตุการณ์เราอาจจะต้องใช้สมอถึง 2 อัน โดยจะทอดที่หัว และท้ายเรือเพื่อป้องกันไม่ให้เรือแกว่ง เช่นเวลาจอดในท่าเรือที่แออัด หรือ เวลาที่อยู่ในสภาพอากาศเลวร้าย และหากทอดสมอที่หัวเรือโดยทำมุม 60° ก็จะสามารถลดอาการเรือแกว่ง ช่วยให้ใช้พื้นที่ในการจอดน้อยลง และใช้เชือกสมอสั้นลงด้วย

วิธีเลือกน้ำหนักของสมอเรือแต่ละประเภท โดยเทียบจากขนาดความยาวเรือ

การเลือก สมอเรือ ให้มีน้ำหนักที่เหมาะสมกับเรือของเราจะต้องคำนึงถึงขนาดความยาวเรือ สถานที่ที่เราทอดสมอ สภาพอากาศ และพฤติกรรมการทอดสมอ เช่น ความถี่ในการทอดสมอและบริเวณที่เรามักใช้จอดเรือเป็นประจำ โดยส่วนใหญ่ผู้ขายสมอเรือมักจะให้ตารางน้ำหนักสมอมาให้ ซึ่งทางเราได้นำตารางน้ำหนักที่เหมาะสมของสมอแบบแมงดา แบบกรงเล็บ และแบบหัวร่มมาให้ได้ได้เปรียบเทียบกันเพื่อให้คุณหาน้ำหนักสมอที่เข้ากับเรือของคุณได้

  • สมอแบบแมงดา (Fluke/Danforth Anchor)

ตารางสมอแมงดา

  • สมอแบบกรงเล็บ (Claw Anchor)

ตารางสมอกรงเล็บ

  • สมอแบบหัวร่ม (Grapnel Anchor)

ตารางสมอหัวร่ม

พื้นที่ลงสมอใต้ทะเลมีลักษณะแบบไหนบ้าง?

สมอเรือนั้นจำเป็นต้องยึดอยู่กับพื้นก้นทะเลได้อย่างมั่นคงเพื่อยึดไม่ให้เรือขยับ แต่ในความสามารถนี้ก็จะขึ้นอยู่กับสมอเองเช่นกันว่าสามารถฝังตัวลงไปได้มากแค่ไหน จากการค้นหาได้มีการทดลองว่าการเลือกพื้นทะเลที่จะทอดสมอนั้น สำคัญกว่าการเลือกรูปแบบสมออย่างมาก เรามาดูกันดีกว่าว่าพื้นทะเลส่วนใหญ่มีอะไรบ้าง

1. ทราย: ทรายละเอียดจะทำให้ฝังสมอได้ง่าย และมีแรงยึดสูง และสมอเรือส่วนใหญ่มักจะใช้ได้ดีในบริเวณที่พื้นทะเลเป็นทรายแข็ง

2. โคลน: โคลนมีแรงเฉือนต่ำ ทำให้เหมาะกับสมอเรือที่มีก้านกว้าง เพื่อให้สมอสามารถฝังตัวลงไปถึงชั้นโคลนที่มีแรงเฉือนมากกว่า แต่โคลนมักจะเป็นเพียงชั้นบางๆ ที่ปกคลุมอยู่บนพื้นทะเลประเภทอื่นๆ ดังนั้นสมอที่สามารถฝังตัวลงไปใต้ชั้นโคลนได้จะมีแรงยึดที่ดีกว่า

3. พื้นหิน: จัดเป็นสภาพแวดล้อมที่ท้าทายในการลงสมอ เพราะตัวสมอไม่สามารถฝังลงไปในพื้นประเภทนี้ได้ โดยประสิทธิภาพการยึดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ทิ้งสมอเพราะจะใช้การยึดเกาะตามร่องต่างๆ แทนการฝังตัว ซึ่งสมอแบบไถและแบบหัวร่มที่มีโครงสร้างแข็งแรง จะเหมาะกับพื้นประเภทนี้ที่สุด เพราะสามารถทนแรงกระแทกได้และยึดตัวกับร่องหินได้ดี

4. หินปูน ดินเหนียว และพืชน้ำ: พื้นประเภทนี้อาจเป็นอุปสรรคสำหรับสมอทุกรูปแบบ ดังนั้นน้ำหนักของสมอจึงเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่ารูปทรงในพื้นประเภทนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เมื่อลงสมอในพื้นประเภทนี้ก็มักจะไม่มั่นคงนัก เพราะตัวสมออาจจะไปเกี่ยวกับรากไม้หรือสิ่งอื่นที่อยู่บริเวณนั้นแทนพื้นที่แข็งแรง อาจทำให้เรือขยับจากตำแหน่งได้ง่าย

วัสดุของสมอเรือมีแบบไหนบ้าง เลือกชนิดไหนถึงจะดีที่สุด?

สมอเรือที่ดีควรจะทำ เหล็กกัลวาไนซ์ แสตนเลสสตีล เกรด 316 หรือ อลูมิเนียม/แมกนีเซียมน้ำหนักเบา โดยส่วนใหญ่นักเดินเรือจะใช้สมอที่ทำจากเหล็กกัลวาไนซ์ เพราะมีราคาที่ถูก และมีความทนทานต่อแรงดึงสูง ส่วนสแตนเลสสตีลนั้นมักจะเหมาะกับเรือที่เน้นเรื่องความสวยงามและความทนทานต่อการใช้งานในระยะยาวซึ่งต้องแลกมากับราคาที่สูงกว่าชนิดอื่นหลายเท่า หากเป็นเรือเล็กที่ต้องการควบคุมน้ำหนักเช่นเรือใบ ก็จะเหมาะกับสมอที่ทำมาจากอลูมิเนียม/แมกนีเซียมแทน เพราะมีน้ำหนักเบา

แนะนำอุปกรณ์เสริมสำหรับสมอเรือ มีอะไรบ้างที่เราควรคำนึงถึงเมื่อใช้งาน

เชือกและโซ่สมอเรือ (Anchor roPE & CHAIN RODES)

เชือกสมอเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง เพราะมันเป็นตัวเชื่อมระหว่างสมอและเรือของเราโดยตรง โดยเชือกจะช่วยให้สมอปรับตัวและยึดกับพื้นที่บริเวณนั้นได้อย่างมั่นคงเมื่อเรือขยับไปตามแรงลมหรือคลื่น ทำให้เรือไม่ลอยออกไปจากบริเวณที่เราต้องการ ซึ่งตัวเชือกมีบทบาททั้งการลงสมอและถอนสมอ เพราะจะต้องสามารถรับน้ำหนักและแรงดึงทั้งจากเรือและสมอของเราได้เป็นอย่างดี

เรือแต่ละประเภทจะใช้เชือกสมอไม่เหมือนกัน โดยเรือลำเล็กส่วนใหญ่ใส่เชือกสมอที่ทำจากไนลอน เรือขนาดกลางจะมีโซ่ผูกอยู่ระหว่างเชือกไนลอนกับสมอ ส่วนเรือขนาดใหญ่มักใช้โซ่เหล็กเป็นหลักเพราะมีความแข็งแรงรับน้ำหนักของสมอและทนต่อแรงดึงได้เป็นอย่างดี สำหรับข้อเสียของโซ่คือมีน้ำหนักมากกว่าเชือก นอกจากนั้นแล้ววัสดุที่ใช้ผลิตโซ่จะต้องเป็นวัสดุคุณภาพสูง (มารีนเกรด) เช่น สแตนเลสสตีล 316 หรือต้องผ่านการชุบสังกะสี เพื่อไม่ให้โซ่เป็นสนิมหรือเสื่อมสภาพเร็ว

รางโซ่สมอเรือและกว้าน (Anchor roller)

รางโซ่สมอเรือ เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้สามารถทอดและถอนสมอได้ง่ายขึ้น มักจะทำจากสแตนเลส และมีลูกกลิ้งที่ทำจากยางที่ปลายราง โดยรางโซ่จะยื่นออกจากเรือเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้เรือได้รับความเสียหาย และร่างโซ่ยังช่วยให้เราดึงสมอด้วยมือได้ง่ายขึ้นนอกจากนั้นยังรักษาระยะห่างระหว่างตัวสมอและตัวเรือ รวมถึงตำแหน่งในการดึงของเราได้ด้วย ในรางโซ่หลายรุ่นมักจะที่ล็อกสมอซึ่งจะช่วยยึดสมอไว้กับที่ โดยเราไม่ต้องเก็บสมอเข้าเรือ นอกจากรางโซ่แล้วเราจะมีอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญคือกว้าน (Windlasses) ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการปล่อยและถอนสมอ ควบคุมโดยใช้ไฟฟ้าทำให้เราสะดวกในการใช้งานทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ถือเป็นอุปกรณ์ทุ่นแรงที่ควรมีติดเรือไว้ ซึ่งเราจะมาพูดถึงอุปกรณ์นี้กันในบทความถัดไป รอติดตามกันได้เลย

แนะนำวิธีทอดสมอและถอนสมอ เตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติจริง

วิธีการทอดสมอเรือ

  1. ตรวจสอบความลึกของน้ำที่คุณต้องการทอดสมอ
  2. คำนวณระยะเชือก/โซ่สมอที่เหมาะสม (แนะนำอัตราส่วน 7: 1)
  3. ทอดสมอลง และปล่อยเชือก/โซ่ออกให้เพียงพอ จากนั้นยึดเชือกกับหลักหัวเรือ
  4. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสมอไม่ได้ขยับแล้ว โดยการสังเกต หรือใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เช่น GPS
  5. ถ้าหากสมอยังขยับอยู่จำเป็นที่จะต้องถอนสมอแล้วทอดใหม่จนกว่าจะสมอจะสามารถฝังหรือยึดติดได้มั่นคง

วิธีการถอนสมอ

  1. เมื่อต้องการถอนสมอเราควรเคลื่อนที่เข้าหาสมออย่างช้าๆ และค่อยๆ ดึงสมอขึ้นเพื่อให้สมอถอนตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น
  2. เมื่อหัวเรืออยู่ตรงเหนือสมอพอดี สมอจะหลุดขึ้นเอง หากสมอติดอยู่ ให้ลองขับเรือเป็นวงกลมขนาดใหญ่ช้าๆ เพื่อเปลี่ยนทิศทางการดึงเชือก
  3. ข้อควรระวังหากสมอติดกับพื้นทะเล ไม่ควรใช้เรือลากสมอเพราะอาจทำให้เรือเสียหลักและจมได้

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางเบื้องต้นเพื่อให้คุณสามารถเลือกใช้งานสมอเรือและอุปกรณ์เสริมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชือกและโซ่สมอได้อย่างถูกต้อง รวมถึงสามารถใช้งานได้จริงในสภาพแวดล้อมที่ต้องการ นอกจากข้อมูลเหล่านี้แล้วในบทความหน้าเราจะพามาลงลึกไปกับอุปกรณ์เสริมรวมถึงเครื่องทุ่นแรงอย่างเช่น กว้าน (Windlasses) และรายละเอียดอื่นๆ ของเชือกและโซ่สมอเรือเพิ่มเติม หากมีข้อสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อเราได้ที่ Line: @gtmmarine และสำหรับใครที่สนใจหาซื้ออุปกรณ์เดินเรือ หรืออุปกรณ์เซฟตี้ต่างสำหรับกิจกรรมทางน้ำ สามารถเข้าชมสินค้าตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่ Lalizas Thailand และ GTM Marine Phuket ได้เลยนะคะ