ทุ่นกันกระแทกเรือ (Fenders) หรือที่หลายๆ คนเรียกกันว่าลูกตะเพรา หรือลูกบวบ คืออะไร มีกี่ประเภท และใช้ยังไง? วันนี้ทาง GTM MARINE จะมาแนะนำให้รู้จักกันค่ะ ทุ่นกันกระแทกนั้น มีไว้เพื่อเป็นเบาะกันชนสำหรับเรือของเรา เพื่อให้ไม่ไปชนกับสิ่งต่างๆ จนเรือเกิดความเสียหาย โดยตามหลักแล้วทุ่นจะถูกใช้เวลาเทียบท่าเรือ หรือเอาไว้กันเรือชนกันเมื่อมีคลื่นหรือลมแรง ขณะจอดเรือเทียบท่าหรือกลางทะเลบริเวณที่มีเรือลำอื่นจอดอยู่ใกล้ๆ ซึ่งทุ่นนั้นเป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นมากๆ สำหรับเรือทุกลำ ซึ่งทุ่นที่เราจะเลือกใช้กันนั้นมีให้เลือกหลายรูปแบบ โดยจะต้องดูจากปัจจัยต่างๆ ทั้งขนาดของเรือ ประเภทของเรือ ไปจนถึงพื้นที่การใช้งานเพื่อให้ได้ทุ่นที่เหมาะสม แล้วเราจะต้องดูกันยังไง เลือกยังไงให้เหมาะสม ตามมาดูกันในหัวข้อด้านล่างได้เลย

ทุ่นกันกระแทกเรือมีกี่ประเภท ทุ่นชนิดไหนเหมาะสำหรับเรือของคุณ?

ทุ่นกันกระแทกที่พบเห็นกันในตลาดนั้นมีค่อนข้างหลายรูปแบบมากๆ แต่ตามหลักแล้วเราจะแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ๆได้ 2 ประเภท ซึ่งจะมีทุ่นแบบ Inflatable Fenders หรือที่เรียกกันว่าทุ่นแบบเติมลม และอีกรูปแบบหนึ่งคือทุ่นแบบกันกระแทกแบบ Solid Fenders หรือที่เรียกกันว่าทุ่นแบบแข็ง สำหรับทุ่นทั้ง 2 รูปแบบนี้จะถูกแบ่งย่อยออกเป็นอีกหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นทุ่นกันกระแทกเรือและทุ่นกันกระแทกสำหรับใช้กับท่าเรือ โดยวันนี้เราจะมาพูดถึงทุ่นที่ถูกใช้หลักๆ ทั้งหมด 2 ประเภท โดยการใช้งานของทุ่นกันกระแทกเรือแต่ละประเภทนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ลักษณะของท่าเทียบเรือ และปัจจัยอื่นๆ

1. ทุ่นกันกระแทกแบบเติมลม (Inflatable Fenders)
เป็นทุ่นที่ค่อนข้างได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มผู้ใช้เรือ ตัวทุ่นมักผลิตจาก Polyvinyl Chloride หรือที่เรียกกันว่า PVC ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความทนทาน กันน้ำ และแสงแดด นับเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงด้วยรูปร่างสีสันของตัวทุ่นที่มีให้เลือกหลายแบบ รวมถึงราคาของตัวทุ่นที่เข้าถึงได้ง่ายแถมยังคุ้มค่าอีกด้วย ตัวทุ่นมีน้ำหนักเบาเพียงแค่เติมลมก็ใช้งานได้ในทันที นอกจากนั้นแล้วยังสามารถปล่อยลมออกเพื่อจัดเก็บได้ ประหยัดพื้นที่ได้ทั้งเรือขนาดเล็กและขนาดใหญ่

ทุ่นกันกระแทกเรือ แบบพองลม

ข้อดีของทุ่นแบบเติมลม

    • มีหลายขนาด หลายสีให้เลือกใช้ น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นสูงดูดซับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี
    • ตัวทุ่นมีหลายรูปทรง ตัวอย่างเช่น ทรงกลมและทรงกระบอก แบบทรงกลมสามารถปรับการใช้งานเป็นทุ่นระบุตำแหน่งระหว่างทำกิจกรรมทางทะเลได้ด้วย
    • สามารถใช้งานได้ทั้งเรือขนาดเล็กและเรือขนาดใหญ่ไปจนถึงเรือเดินทะเลขนาดใหญ่
    • สามารถปล่อยลมออกเพื่อการจัดเก็บในพื้นที่จำกัดได้เมื่อไม่ได้ใช้งาน ประหยัดพื้นที่ได้มากกว่าทุ่นรูปแบบอื่นๆ

ข้อเสียของทุ่นแบบเติมลม

    • ทุ่นยางแบบเติมลมมีความทนทานน้อยกว่าทุ่นกันกระแทกแบบแข็ง อาจเกิดรอยรั่วหรือฉีกขาดได้ง่าย
    • ควรได้รับการตรวจสอบรอยรั่วรวมถึงแรงดันอย่างสม่ำเสมอและควรจัดเก็บให้ถูกวิธีเมื่อไม่ได้ใช้งาน
    • ตัวทุ่นอาจเคลื่อนที่จากตำแหน่งที่ติดตั้งได้ง่ายในสภาพอากาศรุนแรง

2. ทุ่นกันกระแทกแบบแข็ง (Solid Fenders)

อีกหนึ่งตัวเลือกในการป้องกันเรือจากการกระแทกกับท่าเรือหรือเรือลำอื่นขณะจอดหรือเทียบท่า ทุ่นกันกระแทกแบบแข็งผลิตจากวัสดุที่ทนทาน เช่น โพลียูรีเทนโฟม, ยาง และโพลีเอทิลีน ทุ่นชนิดนี้สามารถดูดซับแรงกระแทกและช่วยลดความเสียหายต่อตัวเรือได้เป็นอย่างดี ตัวทุ่นมีหลายรูปแบบ สามารถเลือกใช้งานตามชนิดของเรือและการใช้งาน บางชนิดมีขนาดเล็กสามารถติดกับเรือเฉพาะส่วนที่ต้องการได้ เช่น บริเวณมุมท้ายเรือหรือขอบด้านข้าง นอกจากนั้นทุ่นชนิดนี้ยังถูกนำไปใช้กับท่าเรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อท่าเทียบเรือและตัวเรืออีกด้วย

Solid Fender

ข้อดีของทุ่นแบบแข็ง

    • มีความทนทานสูงรับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี สามารถใช้งานได้ยาวนาน ไม่เสียรูปทรงง่าย
    • ทุ่นแบบแข็งบางรูปแบบกินพื้นที่ข้างเรือน้อยเมื่อติดตั้ง เหมาะสำหรับจอดเรือในพื้นที่แคบ
    • ต้องการการบำรุงรักษาน้อยกว่าทุ่นแบบเติมลม เพียงแค่เช็ดทำความประจำก็เพียงพอ
    • มีตัวเลือกให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ปรับใช้ได้ตามการใช้งาน

ข้อเสียของทุ่นแบบแข็ง

    • ทุ่นกันกระแทกแบบแข็งมีราคาสูงกว่าทุ่นกันกระแทกแบบพองลม
    • ทุ่นบางรูปแบบมีน้ำหนักมาก ทำให้ติดตั้งใช้งานได้ลำบากกว่าแบบเติมลม
    • การจัดเก็บเมื่อไม่ได้ใช้งานทำได้ยากกว่าแบบเติมลม เพราะไม่สามารถลดขนาดก่อนจัดเก็บได้
    • มีความยืดหยุ่นน้อยแม้จะมีความทนทานต่อแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี แต่อาจสร้างความเสียหายต่อตัวเรือได้หากติดตั้งผิดวิธี

3 ขั้นตอนเลือกทุ่นให้เหมาะสมกับขนาดเรือ พร้อมวิธีติดตั้งทุ่นกันกระแทก

1. เลือกขนาดทุ่นที่เหมาะสม
วิธีง่ายๆ ในการเลือกขนาดทุ่นให้เหมาะสมกับขนาด และประเภทเรือของเราคือ การเลือกทุ่นโดยเทียบขนาดความยาวตัวเรือ และเลือกรูปแบบทุ่นที่ต้องการ ซึ่งในบางกรณีทุ่นในแบบที่เราต้องการอาจจะไม่เหมาะสมกับขนาดของเรือ เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือการเทียบขนาดเรือให้เหมาะสมกับทุ่นมากกว่าการเลือกชนิดของทุ่น หากทุ่นเล็กเกินไปก็จะไม่สามารถปกป้องตัวเรือจากแรงกระแทกที่รุนแรงได้ ลองมาดูตารางด้านล่างเพื่อเลือกทุ่นให้เหมาะสมกับเรือของเรามากที่สุด โดยตารางด้านล่างเป็นทุ่นที่ทางร้านของเรามีจำหน่ายทุกรุ่น หากเป็นยี่ห้ออื่นๆ ก็จะมีขนาดและความเข้ากันของตัวเรือที่แตกต่างกันไป


ตารางขนาดทุ่นกันกระแทกเรือ
2. กำหนดตำแหน่ง และความสูงที่เหมาะสม
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าต้องติดตั้งให้ทุ่นโดยเว้นระยะห่างเท่าๆ กัน แต่ความจริงแล้วทุ่นนั้นควรจะติดตั้งไว้ที่ส่วนที่กว้างที่สุดของตัวเรือ เพราะเป็นส่วนที่มีโอกาสโดนชนมากที่สุดเวลาเทียบท่า แต่ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน เช่น หากเราเทียบท่าโดยมีเพียงหัวเรือที่อยู่ติดกับท่าเทียบเรือ เราจะต้องติดตั้งทุ่นส่วนใหญ่ไว้ที่หัวเรือ หรือบางครั้งที่เราจะต้องถอยหลังเข้าช่องจอด เราควรติดตั้งทุ่นไว้ท้ายเรือเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ท้ายเรือชนกับท่าเทียบเรือ นอกจากนี้เรายังต้องพิจารณาความสูงที่เราจะแขวนทุ่นด้วย ซึ่งจะอยู่สูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับท่าเทียบเรือหรือเสาที่เราจะจอดรวมถึงระดับน้ำขึ้น-ลง สำหรับท่าเทียบเรือแบบลอยน้ำ การผูกทุ่นให้สูงกว่าระดับน้ำนิดหน่อยจะดีมาก เราควรดูลักษณะท่าเรือก่อนเทียบท่าเพื่อจะได้คำนวณตำแหน่งทุ่นก่อนติดตั้งทุกครั้ง

3. ใช้จำนวนทุ่นให้เหมาะสมกับเรือของเรา
จำนวนทุ่นที่เราต้องใช้จะขึ้นอยู่กับความยาวของตัวเรือ รวมถึงน้ำหนักเรือเพื่อให้มีความสมดุลระหว่างติดตั้งทุ่น เรืออาจจะใช้ทุ่น 2 – 4 อันต่อด้าน โดยจะต้องมีทุ่นสำรองนำมาใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งจะนำมาติดตั้งไว้ที่ไหนก็ได้แล้วแต่สถานการณ์ เราควรใช้ความระมัดระวังเสมอเมื่อใช้ทุ่นสำรอง โดยห้ามใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย (แขน มือ เท้า ฯลฯ) เพื่อหยุดหรือ ชะลอแรงเรือขณะเข้าใกล้ท่าเทียบเรือเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายได้

วิธีผูกทุ่นกันกระแทก

วิธีผูกเชือกเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนใช้งานสามารถทำได้ง่ายๆ เพียง 2 ขั้นตอน:

  1. ผูกเชือกเข้ากับทุ่น
  2. ผูกเชือกทุ่นเข้ากับเรือของเรา

ทุ่นกันกระแทกที่มีมาตรฐานส่วนมากมักจะมีห่วงสำหรับคล้องเชือกมาให้เสมอ โดยเราสามารถซื้อเชือกสำหรับผูกทุ่นกันกระแทกที่สามารถรับน้ำหนักของทุ่น และทนทานต่อสภาพการใช้งานมาผูกทุ่น และเรือของเราได้ โดยเชือกสำหรับผูกทุ่นของเรามีห่วงบริเวณปลายเชือก ทำให้สามารถผูกติดกับทุ่นได้ง่าย แต่หากใช้เชือกรูปแบบอื่นๆที่ไม่มีห่วง สามารถใช้ปม bowline ซึ่งเป็นปมที่แข็งแรง และสามารถคลายออกได้แม้เชือกจะมีแรงดึงอยู่

เชือกผูกทุ่น
ในการผูกเชือกทุ่นเข้ากับตัวเรือนั้นจำเป็นจะต้องทำทุกครั้งเมื่อเทียบท่า โดยการผูกปมแบบ clove hitch จะเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะเป็นการผูกเชือกเข้ากับราวเรือ และสามารถเลื่อนทุ่นไปตามราวเพื่อเคลื่อนย้ายตำแหน่งยามฉุกเฉินได้ แต่เพื่อป้องกันความเสียหายต่อราวเรือ เราควรผูกเชือกทุ่นไว้ที่ด้านล่างของราวเพราะบริเวณนั้นคือส่วนที่แข็งแรงที่สุด (โดยเฉพาะกับเรือใบ)
นอกจากนี้หากเรามีพุกเรือก็สามารถผูกปมแบบ cleat hitch แบบง่ายๆ ได้ ซึ่งปมนี้ช่วยให้สามารถใส่และถอดทุ่นออกได้ง่ายแม้มีน้ำหนักมาก หรือแม้เชือกจะแข็งจะเริ่มตัวจากเกลือของน้ำทะเลก็ตาม บางครั้งเราสามารถผูกเชือกกับทุ่นได้ทั้งสองด้าน และติดตั้งในแนวนอนนาบกับตัวเรือ ซึ่งจะช่วยคลุมส่วนกว้างของตัวเรือได้มากกว่าการแขวนแบบแนวตั้ง และยังช่วยป้องกันเรือจากเสาของท่าเรือแบบแนวตั้งได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

วิธีดูแลรักษา ทุ่นกันกระแทกเรือ ทำยังไงให้ใช้ได้นานและมีประสิทธิภาพ

นอกจากการเช็ดทำความสะอาดทุ่นกันกระแทกหลังใช้งานทุกครั้งแล้ว เราควรตรวจสอบความสมบูรณ์ของตัวทุ่นอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นต้องใช้ทุ่นกันกระแทกในครั้งต่อไปโดยเฉพาะทุ่นแบบเติมลม เพราะบางครั้งทุ่นเหล่านี้อาจจะมีการรั่วซึมหลังการใช้งานได้ สำหรับทุ่นเติมลมขอแนะนำให้ใช้น้ำยาล้างจานหรือสบู่ผสมน้ำเพื่อนำมาลูบบริเวณวาล์วของทุ่น ซึ่งมักเป็นจุดที่มีโอกาสรั่วซึมมากที่สุด หากมีฟองอากาศเกิดขึ้นควรตรวจเช็คสภาพของวาล์วทันที บางครั้งวาล์วอาจเคลื่อนที่หรือคลายตัวทำให้เกิดการรั่วซึม หากหนักกว่านั้นคือวาล์วเสื่อมซึ่งจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทุ่นใหม่

นอกจากการตรวจสภาพทุ่นของเราอย่างเป็นประจำแล้วก็ยังมีตัวช่วยดีๆ สำหรับการดูแลรักษาทุ่น ซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานและปกป้องทุ่นจากการเสียดสีได้เป็นอย่างดี ขอแนะนำให้ใช้ปลอกผ้าหุ้มทุ่นกันกระแทก (Fender cover) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยปกป้องตัวเรือของเราขณะจอดเรือ โดยปลอกผ้าหุ้มทุ่นกันกระแทกนี้สามารถป้องกันไม่ให้ทุ่นสร้างรอยขีดข่วน หรือรอยเปื้อนบนเรือของเรา อีกทั้งยังยืดอายุการใช้งานของทุ่นได้อีกด้วย เพราะสามารถปกป้องทุ่นจากแรงเสียดทาน แสงแดด และน้ำได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นแล้วหากเราจำเป็นต้องจอดเรือในท่าเป็นระยะเวลานาน การเลือกใช้ ปลอกผ้าหุ้มทุ่นกันกระแทก จะช่วยปกป้องทั้งเรือและตัวทุ่นของเราได้อีกระดับ นอกจากนั้นอย่าลืมคำนึงถึงเนื้อผ้าที่ใช้ผลิตปลอกหุ้มทุ่นเพื่อการดูแลรักษาที่ง่ายและใช้งานได้จริง ไม่สร้างรอยให้กับเรือของเรา

ปลอกผ้าหุ้มทุ่นกันกระแทก

สุดท้ายนี้ หวังว่าข้อมูลทั้งหมดนี้จะสามารถทำให้เรารู้จักวิธีใช้ทุ่นกันกระแทกได้มากขึ้น ซึ่งโดยหลักๆของการใช้ทุ่นกันกระแทกนั้นจะขึ้นอยู่กับการใช้งาน เช่น ลักษณะของท่าเทียบเรือของเรา โดยจะเลือกใช้ทุ่นแบบไหนก็แล้วแต่ความชอบของเรา อย่างไรก็ตามอย่าลืมเก็บทุ่นกันกระแทกก่อนเดินเรือกันนะคะ เพราะหลายคนที่ลืมเอาทุ่นออก มักจะโดนคลื่นซัดใส่ทุ่นจนพัง และสำหรับใครที่สนใจหาซื้ออุปกรณ์เดินเรือ หรืออุปกรณ์เซฟตี้ต่างสำหรับกิจกรรมทางน้ำ สามารถเข้าชมสินค้าตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่ Lalizas thailand official และ GTM Marine Phuket ได้เลยนะคะ